มีประวัติความเป็นมาจากแค้วนสิบสองจุไทย ซึ่งขุนบรม เป็นผู้ก่อตั้งเมืองแถง ตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ตั้งเมืองนาน้อย อ้อยหนู ปู่แสนบางนางแสนเก้าหรือเมืองแถง เกิดทุพพิกภัย จึงได้อพยพมาทางใต้ อาศัยอยู่ตามลำน้ำเซน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์น้ำต่างๆ เป็นที่ราบระหว่างหุบเขาชาวบ้านเรียกว่า กวน ซึ่งหมายถึงพื้นที่แวดล้อมด้วยภูเขา ณ บริเวณแห่งนั้น
ประวัติความเป็นมาของชาวไทยญ้อ ถิ่นฐานเดิมของไทยญ้อ อยู่ที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี ของประเทศลาวหรือจังหวัดล้านช้างของไทยสมัยหนึ่ง ไทยญ้อส่วนใหญ่ได้อพยพ มาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ไชยบุรีปากน้ำสงครามริมฝั่งแม่น้ำโขง (ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมในปัจจุบัน)
ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2351 ต่อมาเมื่อเกิดกบฎเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ในสมัย รัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2369) พวกไทยญ้อที่เมืองไชยบุรีได้ถูกกองทัพเจ้าอนุวงศ์กวาดต้อนไปแล้วให้ไปตั้งเมืองอยู่ ณ เมืองปุงลิง ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (อยู่ในเขตแขวงคำม่วนประเทศลาว) อยู่ระยะหนึ่งต่อมาได้กลับมาตั้งเมืองขึ้นใหม่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตั้งเป็นเมืองท่าอุเทน เมื่อ พ.ศ. 2373 คือ บริเวณท่าอุเทน จังหวัดนครพนมในปัจจุบัน
ชาวผู้ไทยเป็นชาวจังหวัดนครพนมเผ่าหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในเขต อ.เรณูนคร อ.นาแก อ.ธาตุพนม อ.นาหว้า เดิมตั้งถิ่นฐานในแคว้นสิบสองจุไทย แคว้นสิบสองปันนา ชาวผู้ไทย ได้อพยพจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2369 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
แสก เป็นชนกลุ่มน้อยภาคอีสานเผ่าหนึ่งในจำนวนหลายๆ เผ่าที่มีอยู่ในประเทศไทย เดิมชาวแสกมีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองรองขึ้นกับกรุงเว้ อยู่ทางตอนกลางของประเทศเวียดนามและจีนต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยากษัตริย์ของไทย ชาวแสก ได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานมาอยู่ที่ป่าหายโศก จนถึงสมัยพระสุนทรเป็นเจ้าเมืองได้พิจารณาเห็นว่าชาวแสกมีความสามารถและความเข้มแข็ง สามารถปกครองตนเองได้จึงได้ยกฐานะของชาวแสกขึ้นเป็นเมืองโดยได้เปลี่ยนชื่อใหม่จากป่าหายโศก เป็นเมืองอาจสามารถ หรือบ้านอาจสามารถ จนทุกวันนี้
เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ พูดภาษาไทย-ลาว (ภาษาอีสานเป็นกลุ่มผู้นำทางด้านวัฒนธรรมภาคอีสาน เช่น ฮีต คองตำนานอักษรศาสตร์ จารีตประเพณี นิยมตั้งหมู่บ้านเป็น กลุ่ม บนที่ดอนเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า”โนน” ยึดทำเล การชนเผ่าในนครพนมทำนาเป็นสำคัญ อาศัยอยู่ทั่วไป
ไทยข่าเป็นชาวไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังพอมีหลงเหลือบ้างในพื้นที่จังหวัดนครพนมแต่ไม่ปรากฏให้เป็นชุมชนชัดเจนจะมีเพียงครอบครัวที่แทรกอยู่ในชุมชนอยู่ในพื้นที่อำเภอนาแกตามหมู่บ้านแถบเทือกเขาภูพาน
ชาวไทยโส้ในพื้นที่จังหวัดนครพนม เป็นชาวไทยตระกูลเดียวกันกับพวกบรู หรือพวกไทยข่าพวกกะโซ่ซึ่งอพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ตั้งขึ้นเป็นเมืองหลายเมือง คือ เมืองรามราชเป็นชาวกะโซ่จากเมืองเซียงฮ่ม ในแขวงสุวรรณเขต ตั้งขึ้นเป็นเมืองรามราช ขึ้นกับเมืองนครพนม เมื่อ พ.ศ. 2387 โปรดเกล้าฯ ตั้งให้ท้าวบัว แห่งเมืองเชียงฮ่ม เป็นพระทัยประเทศ เป็นเจ้าเมืองเป็น คนแรก ปัจจุบันเป็นพื้นที่รามราช ต.พระทาย ต.ท่าจำปา อ.ท่าอุเทน ต.โพนสวรรค์ จ.นครพนมเป็นหมู่บ้านชาวไทยโส้
กะเลิงเป็นชาวกลุ่มน้อยที่เป็นชาติพันธุ์ ทางภาษากลุ่มหนึ่ง เช่นเดียวกับชนกลุ่มญ้อ โส้ แสก ผู้ไทยและเวียดนาม ซึ่งมีอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครพนม กะเลิงมีถิ่นฐานเดิมอยู่ทาง ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ชนกลุ่มกะเลิงได้อพยพมาตั้งแหล่งอยู่ในประเทศไทยเมื่อประมาณ 100 ปีเศษ ตั้งแต่มีการปราบ เจ้าอนุวงศ์ในรัชกาลที่ 3 และมีการอพยพครั้งใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อเกิดศึกกบฏฮ่อในปี พ.ศ. 2416 ปัจจุบันมีชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิงในประเทศไทยที่ จ.นครพนม จ.สกลนคร จ.กาฬสินธุ์ จ.มุกดาหาร
ในอดีตมีชาวเวียดนามจำนวนหนึ่งได้อพยพมาอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 3 ส่วนหนึ่งอพยพเพื่อหนีภัย จักวรรดินิยมฝรั่งเศส จากประเทศเวียดนาม เข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านหนองแสง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านนาจอก ปัจจุบัน 6 กิโลเมตร หลังจากนั้นก็มีการอพยพกระจัดกระจายอยู่ในหมู่บ้านต่างๆ ในเขตอำเภอเมืองนครพนม และส่วนหนึ่งได้อพยพมาอยู่ที่บ้านนาจอกแห่งนี้ ผู้สูงอายุในบ้านนาจอก เล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2471-2472 อดีตประธานโฮจี๋มิง ได้เคยมาพำนักและสร้างบ้านอาศัยอยู่ ณ บ้านนาจอกแห่งนี้ ในขณะนั้นใช้ชื่อว่า จิ้น โดยใช้ชีวิตเช่นเดียวกับชาวบ้านทั่วไป จึงไม่มีใครรู้ว่าท่านคือใคร จนท่านกลับไปกู้ชาติสำเร็จจึงรู้ว่านายจิ้นที่ บ้านนาจอก แท้จริงก็คือประธานโฮจี๋มิงร่องรอยที่ยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบันก็คือ ต้นมะพร้าว 2 ต้น และต้นมะเฟือง 1 ต้น ซึ้งท่านประธานโฮจี๋มิง หรือนายจิ้นในขณะนั้นได้เคยปลูกไว้ด้วยความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวในปี พ.ศ. 2542 จังหวัดนครพนมจึงพัฒนาพื้นที่บ้านนาจอกแห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สำคัญ เพื่อเสริมสร้างความสำพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดนครพนม บรรพบุรุษอพยพมาจากจังหวัดแต้จิ๋ว จากเมืองชัวเกา มณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของประเทศจีน อพยพทางเรือผ่านทะเลจีนใต้ เป็นแรมเดือนมาสู่กรุงเทพมหานคร บางส่วนก็ตั้งรกรากที่กรุงเทพมหานคร บางส่วนก็มองว่าการเดินทางออกไปในถิ่นทุรกันดาร น่าจะเป็นโอกาสในการเจริญเติบโต ได้ดีกว่าอยู่ในเมืองหลวง จนมีคนจีนบางส่วนได้อพยพมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือจนมาถึงจังหวัดนครพนม
เมื่อเข้ามาอาศัยก็จะแต่งงานกับผู้หญิงคนไทยกลายเป็นค่านิยมในสมัยนั้นทำให้การสืบเชื้อสายเป็นคนไทยเชื้อสายจีนสืบต่อเนื่องกันมาตั้งแต่นั้น ต่อมามีการรวมกลุ่มพ่อค้าในจังหวัดนครพนมตั้งเป็นสมาคม ฮั้วเคี้ยว เมื้อปี พ.ศ. 2489 มีนายกสมาคมคนแรกคือ นายโต๊ะเค็ง แซ่เตีย ความสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนเป็นไปด้วยดีมาโดยตลอด และสมาคมพ่อค้าจังหวัดนครพนมได้เริ่มก่อตั้งสถานศึกษาขึ้น ชื่อ โรงเรียนตงเจี่ย เพื่อให้ลูกหลานชาวจีนได้มีโอกาสเรียนภาษาจีนเพิ่มเติมภาษาทยที่เป็นภาษาบังคับที่ต้องเรียนรู้อยู่แล้ว
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครพนม นั้นภูมิใจนำเสนอโดย WordPress