ชนเผ่าไทแสก

ประวัติความเป็นมา 

         เดิมชาวแสกมีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองรองขึ้นกับกรุงเว้ อยู่ทางตอนกลางของประเทศเวียดนามและจีน ชนเผ่าแสกเป็นชนเผ่าที่มีความอุสาหะบากบั่น ยึดมั่นในความสามัคคี เมื่อเห็นภูมิลำเนาเดิมไม่เหมาะสมจึงได้รวมสมัครพรรคพวกอพยพหาที่อยู่ใหม่ โดยอพยพลงมาตามลำน้ำโขงแล้วมาตั้งถิ่นฐานชั่วคราวอยู่ระหว่างประเทศเวียดนามกับประเทศลาวโดยมีท้าว กายซุและท้าวกายชาเป็นหัวหน้าในการอพยพต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยากษัตริย์ของไทย ชาวแสก ได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานมาอยู่ที่ป่าหายโศก การอพยพของชาวแสกแต่ละครั้งนั้นไม่ได้ถูกบังคับหรือถูกข่มแหงแต่อยู่ใด เมื่อชาวแสกเห็นว่าบริเวณป่าหายโศก เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรต่างๆ จึงได้อพยพกันมาประกอบอาชีพอยู่แห่งนี้เรื่อยมาจนถึงสมัยพระสุนทรเป็นเจ้าเมืองได้พิจารณาเห็นว่าชาวแสกมีความสามารถและความเข้มแข็งสามารถปกครองตนเองได้จึงได้ยกฐานะของชาวแสกขึ้นเป็นเมืองโดยได้เปลี่ยนชื่อใหม่จากป่าหายโศกเป็นเมืองอาจสามารถหรือบ้านอาจสามารถ จนทุกวันนี้

แหล่งท่องเที่ยวชุมชน และท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
         ศาลโองมู้  ศูนย์วัฒนธรรมชนเผ่าไทยแสก

การประกอบอาชีพ
         การเลี้ยงปลากระชัง และทำอาชีพเกษตรกร

ความเชื่อ ประเพณี ความสำคัญ
      ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวไทยแสก พิธีกินเตดเดน เป็นประเพณีพิธีกรรมอย่างหนึ่ง โดยการประกอบพิธีกรรมขึ้นมาเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อ โองมู้ ที่ชาวไทแสกเคารพนับถือ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวไทแสก เป็นผู้มีพระคุณต่อลูกหลานรุ่นหลังๆ สืบต่อกันมา โองมู้ จะทำหน้าที่คุ้มครองอันตรายที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน และดลบันดาลให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นตามที่ บนบาน โดยมี กวนจ้ำ เป็นสื่อกลางในการประกอบพิธีกรรม แต่ถ้าหากลูกหลานประพฤติมิชอบ ไม่เหมาะสม หรือทำพิธีบนบานแล้วไม่ประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งที่ถูกดีงามหรือไม่มีพิธีกรรม พิธีแก้คำบนบาน ก็จะทำให้เกิดเหตุเภทภัยในครอบครัว พิธีบวงสรวง โองมู้ โดยการแสดง แสกเต้นสาก ในสมัยก่อนการเต้นสากของชาวแสก ถือว่าเป็นการละเล่นประจำเฉพาะพิธีบวงสรวง โองมู้ ในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ชาวแสกเรียกว่า พิธีกินเตดเดน จะมีการแสดง แสกเต้นสากถวายโองมู้ โดยใช้ไม้สากตีกระทบกันเป็นจังหวะ สากที่ใช้ตีในการเต้นสากก็คือไม้สากที่เป็นสากตำข้าวในใสมัยโบราณ แต่ขนาด ยาวกว่าตรงกลางเรียวเล็ก ไม้รองพื้นสากจะใช้ไม้อะไรรองก่อนก็ได้มีจำนวน 1 คู่ ขอให้มีขนาดเท่ากัน แสกเต้นสาก จะมีให้เห็นเฉพาะในวันบวงสรวงโองมู้เท่านั้น หากมาไม่ตรงวันจะต้องเป็นแขกกิตติมศักดิ์ระดับ      ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง เขาถึงจะยอมเต้นให้ชม

วิถีการกินอยู่ อาหารพื้นบ้าน
         ปลาเพาะห่อกาบกล้วย
         เอาะพื้นท้องปลา

การแสดง
        1. เซ่นไหว้ศาลเจ้าโองมู้
        2. แสกเต้นสาก

อาหารเด่นประจำชนเผ่า
        1. ปล๋าเผาะเผ่ากราบโครุ่ง (ปลาเพาะห่อกาบกล้วย) อาหารประจำธาตุ “ไฟ”
ความเป็นมาของอาหาร
       ตั้งแต่สมัยก่อนหากชาวบ้านหาปลามาได้แล้วจะนำปลาไปเผาทานเปล่าๆ ต่อมาต้องการเพิ่มรสชาติและให้ปลาไม่แห่งจนเกินไปจึงนำกาบของต้นกล้วยมาห่อก่อนแล้วจึงเผาปลาเผาะ เป็นปลาที่หาทานง่ายในบริเวณที่ชนเผ่าไทยแสกอาศัยอยู่จึงมีการเพาะเลี้ยงปลาชนิดนี้ไว้จนเป็นปลาเศรษฐกิจของชาวบ้าน เมื่อมีแขกหรือผู้มาเยือน ชาวบ้านนิยมนำเมนูนี้ขึ้นมาวางไว้ในสำรับ จึงกลายเป็นอาหารเอกลักษณ์ของชนเผ่าไทยแสก
ประโยชน์ทางอาหาร
       เป็นอาหารที่มีพลังงานไม่ทำให้อ้วน
       2. เอ๊าะไหก๋ปล๋า (เอาะพื้นท้องปลา) อาหารประจำธาตุ “น้ำ”
ความเป็นมาของอาหาร
        ปลาเผาะ เป็นปลาที่หาทานง่ายในบริเวณที่ชนเผ่าไทยแสกอาศัยอยู่ จึงมีการเพาะเลี้ยงปลาชนิดนี้ไว้จนเป็นปลาเศรษฐกิจของชาวบ้าน สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายรูปแบบ
ประโยชน์ทางอาหาร
        เป็นอาหารที่มีพลังงานไม่ทำให้อ้วน น้ำมันบริเวณพื้นท้องปลาและเครื่องในปลามีวิตามินมาก


Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *